หน้า5


   3. ทักษะพิสัย การเรียนรู้นี้เป็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมภายนอกที่ต้องใช้กล้ามเนื้อ และอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเป็นประเด็นของการเรียนรู้ ดังนั้นคำว่า ทักษะพิสัยจึงเป็นคำที่ไม่ค่อยจะตรงกับความหมายเดิมเสียทีเดียว เพราะความมีทักษะอาจใช้กับอีกสองด้านแรกได้
               บลูมและแครธโวลไม่ได้จัดลำดับขั้นการเรียนรู้ด้านทักษะพิสัยต่อ แต่มีนักการศึกษาคนอื่น ๆ ได้พยายามศึกษาและจัดจำแนกพฤติกรรมการเรียนรู้ในด้านนี้ เช่น ซิมซัน (Simpson, 1966) คิบเลอร์และคณะ (Kibler et al, 1970) และฮาร์โร (Harrow, 1972) บุคคลเหล่านี้จะนำเสนอขั้นตอนการเรียนรู้ด้านทักษะพิสัยในแนวจิตวิทยาพัฒนาการ เช่น ฮาร์โร แบ่งพฤติกรรมการเรียนรู้จากการปฏิบัติงานของกลไกกล้ามเนื้อจากง่ายไปสู่ยาก 6 ขั้นดังนี้
1.             ความเคลื่อนไหวที่เกิดจากปฏิกิริยาสะท้อน
2.             ความเคลื่อนไหวขั้นพื้นฐานเบื้องต้น
3.             ความสามารถทางการรับรู้
4.             ความสามารถทางกายภาพ
5.             ความเคลื่อนไหวด้านทักษะ
6.             การสื่อความหมายที่ไม่ใช้คำพูด
 ซิมซัน และคิบเลอร์กับคณะต่างก็กำหนดพฤติกรรมการเรียนรู้ด้านทักษะพิสัยในทิศทางเดียวกัน
              เช่นเดียวกับจิตพิสัย การจัดจำแนกพฤติกรรมการเรียนรู้ของทักษะพิสัยออกเป็นขั้น ๆ อาจมีประโยชน์แก่การจัดลำดับกิจกรรมการเรียนรู้ของทักษะแต่ละประเภทในเชิงจิตวิทยาพัฒนาการเท่านั้น แต่ในสถานการณ์ทั่วไปของการฝึกอบรม หรือการเรียนรู้ทักษะเชิงกายภาพในโรงเรียน จะกำหนดอย่างตรงไปตรงมาว่าจะให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้อะไร หรือสามารถทำอะไรได้ เช่น ให้สามารถเต้นรำจังหวะแทงโก้ได้อย่างคล่องแคล่ว ให้สามารถปรุงแกงเขียวหวานไก่ได้ และให้สามารถวิ่งหนึ่งร้อยเมตรได้ภายในระยะเวลา 15 วินาที เป็นต้น
                 เมื่อนำพฤติกรรมการเรียนรู้ทั้งสามด้านมาพิจารณาตามสถานการณ์ที่เป็นจริง ก็สามารถนำมาจัดเป็นดัชนี หรือองค์ประกอบของการพิจารณาคุณภาพการศึกษาได้สององค์ประกอบ คือ
1. ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา
2. คุณธรรมและจริยธรรม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น