ธวัชชัย ชัยจิรฉายากุล (2527:32) ได้อธิบายถึงกิจกรรมการเรียนรู้ที่เกิดจากการประสานสัมพันธ์ระหว่าง พุทธิพิสัย จิตพิสัย และทักษะพิสัยว่า พุทธิพิสัยซึ่งเน้นการใช้ความคิด และสติปัญญาทำหน้าที่เป็นผู้นำหรือควบคุมการเรียนรู้ทั้งของตัวมันเองและอีกสองส่วนซึ่งได้แก่ อารมณ์และการใช่กล้ามเนื้อ ซึ้งสังกัดอยู่ในกลุ่มแรงจูงใจและกลุ่มพฤติกรรมนิยมตามลำดับ ในการเรียนรู้แต่ละครั้ง แต่ละส่วนดังกล่าวจะมีส่วนร่วมในการเรียนรู้มากน้อยแตกต่างกันไปตามลักษณะของสิ่งที่เรียนรู้ ถ้าเป็นการเรียนรู้ในส่วนที่เป็นความรู้และเน้อหาสาระเชิงทฤษฎี ส่วนที่เป็นสมองและสติปัญญาจะทำงานหนัก อีกนัยหนึ่งก็คือความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นในส่วนที่เป็นสติปัญญา ถ้าจะเรียนรู้เนื้อหาสาระที่เน้นภาคปฏิบัติหรือการใช้กล้ามเนื้อ เช่น การร่ายรำ การเล่นกีฬา การทำการฝีมือ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหรือการเรียนรู้ ในกรณีนี้จะเน้นที่การใช้กล้ามเนื้อและเคลื่อนไหวในการปฏิบัติในการปฏิบัติกิจกรรมนั้น ๆ แต่สติปัญญาหรือสมองก็ยังทำหน้าที่ควบคุมอยู่ เป็นต้นว่า การร่ายรำก็จำเป็นต้องใช้ความจำว่า เมื่อไร จะรำท่าไหนเพื่อเปลี่ยนท่ารำให้เข้าจังหวะและรับกับเพลงหรือดนตรี ซึ่งผู้รำจะต้องจำทำนองและจังหวะให้ได้ ในทำนองเดียวกันการเรียนรู้ทางด้านอารมณ์ก็จะมีสติปัญญาเข้ามาควบคุมและเกี่ยวข้องด้วยเช่น เมื่อเราจะสอนให้ผู้เรียนเกิดความซาบซึ้ง และมีเจตคติที่ดีต่อดนตรีไทย สติปัญญาจะมีส่วนเกี่ยวข้องในการรับรู้ข้อมูลและรายละเอียดต่างๆ เพื่อนำมาคิดวิเคราะห์ และพิจารณา เมื่อพบว่าดนตรีไทยมีประโยชน์ มีความละเอียดอ่อนลึกซึ้ง มีความไพเราะ ก็จะช่วยให้เรียนรู้ ที่จะสังเกตและฟังดนตรีไทยเป็น ความซาบซึ้งและเจตคติที่ดีก็จะเกิดตามมา และถ้าจะให้เกิดความซาบซึ้งมากกว่านี้ ก็ควรจะเปิดโอกาสให้เขาได้เล่นเครื่องดนตรีไทยบางชนิดได้
จากสิ่งที่นำเสนอข้างบนนี้ แสดงให้เห็นว่า การเรียนรู้ของมนุษย์จะต้องเกิดขึ้นภายใต้องค์ประกอบทั้งสามด้านคือ พุทธิพิสัย จิตพิสัย และทักษะพิสัย องค์ประกอบทั้งสามนี้จะทำงานโดยมีความสัมพันธ์และประสานกันอย่างใกล้ชิด โดยมีพุทธิพิสัยเป็นตัวควบคุมหรือเกี่ยวข้องอยู่เสมอ ส่วนองค์ประกอบด้านใดมีความโดดเด่นในกิจกรรมการเรียนรู้แต่ละครั้งจะขึ้นอยู่กับเนื้อหาสาระหรือเรื่องที่จะเรียนรู้
องค์ประกอบของการเรียนรู้ทั้งสามด้านดังกล่าวนี้จะเป็นตัวกำหนดคุณภาพของการศึกษาของมนุษย์ กล่าวคือ นอกจากการเรียนรู้ให้ครบทั้งสามด้านเพื่อประกันคุณภาพแล้ว ในแต่ละด้านยังบ่งบอกได้อีกว่า การเรียนรู้มีคุณภาพเพียงใดขึ้นอยู่กับระดับขั้นการเรียนรู้ในองค์ประกอบหรือด้านนั้นๆ นั่นคือ ยิ่งเรียนรู้ได้ถึงระดับที่สูงขึ้นมากเพียงใด ก็จะบ่งบอกถึงระดับคุณภาพการเรียนรู้ที่สูงขึ้นเพียงนั้นดังจะอธิบายให้เห็นถึงความจริงข้อนี้ต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น