หน้า1


องค์ประกอบของการศึกษาที่มีคุณภาพ
            ความหมายของการศึกษาที่มีคุณภาพที่ได้กล่าวมาแล้วในเรื่องที่ 15.1.1เป็นการมองคุณภาพในระดับจุลภาคหรือระดับปัจเจกบุคคล เป็นการมุ่งการสร้างคนและพัฒนาคนเป็นการเฉพาะ การกำหนดหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนที่ปฏิบัติกันอยู่เป็นประจำนี้จะมุ่งให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ในสาระที่กำหนดให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ การศึกษาที่มีคุณภาพจึงสะท้อนออกมาในรูปของปริมาณของการเรียนรู้ นั่นคือถ้านักเรียนส่วนใหญ่ทำคะแนนได้สูงในวิชาต่างๆ ยิ่งมากขึ้นเท่าใดก็แสดงว่าคุณภาพสูงขึ้นเท่านั้น นอกจากนี้ความสามารถในการอ่านออก เขียนได้และคิดเลขเป็นก็เป็นตัวชี้วัดมาตรฐานอีกตัวหนึ่งของคุณภาพการศึกษา ดังนั้นเมื่อมีการเปรียบเทียบคุณภาพการศึกษาระหว่างเด็กในประเทศต่างๆ จึงใช้คะแนนผลสัมฤทธิ์ในวิชาต่างๆ โดยเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์เป็นดัชนีของการเปรียบเทียบ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะคะแนนผลสัมฤทธิ์ลักษณะเป็นรูปธรรม จัดดำเนินการง่าย และเป็นวัตถุประสงค์หลักของการเรียนรู้ในโรงเรียน                                                                                                            
             เมื่อพิจารณาถึงการเรียนรู้ในระดับบุคคล ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์หลักของหลักสูตรและโรงเรียนแล้วต้องยอมรับว่าแนวการอธิบายและการกำหนดการเรียนรู้ของมนุษย์ออกมาเป็นสามด้านของบลูม(Bloom,1972) อันได้แก่ พุทธิพิสัย (cognitive domain) จิตพิสัย (affective domain) และทักษะพิสัย (psychomotor domain) ยังเป็นกรอบที่อธิบายการเรียนรู้ได้ดีที่สุดในปัจจุบันนี้ทฤษฎีการเรียนรู้ของนักจิตวิทยาก็อธิบายภายใต้กรอบของบลูม ซึ่งประกอบด้วยทฤษฎีการเรียนรู้ที่ เรียกว่า ทฤษฎีการเรียนรู้กลุมพุทธินิยม (cognitive psychology) กลุ่มพฤติกรรมนิยม (behavioral psychology) และกลุ่มแรงจูงใจ (motivation psychology) พุทธศาสนิกชนมีความเชื่อและความเข้าใจว่า มนุษย์ประกอบด้วยกายกับจิต และแบ่งจิตออกเป็นสติปัญญา และอารมณ์หรือความรู้สึก เมื่อเปรียบเทียบกับกรอบของบลูมแล้ว กาย ได้แก่ psychomotor domain สติปัญญา คือ cognitive domain ส่วนอารมณ์และความรู้สึกคือ affective domain
                เมื่อกล่าวถึงทฤษฎีการเรียนรู้ อาจมีความสับสนอยู่บ้างในลักษณะที่ว่า นักจิตวิทยามีความเชื่อหรือสังกัดอยู่ในทฤษฎีใดทฤษฎีหนึ่ง จะปฏิเสธทฤษฎีอื่นโดยสิ้นเชิง แต่ในทางปฏิบัติ นักการศึกษานักพัฒนาหลักสูตรหรือครูผู้สอน ไม่สามารถเน้นหือเลือกทฤษฎีใดทฤษฎีหนึ่งมายึดเป็นแนวในการจัดหลักสูตรและการเรียนการสอนได้ เพราะการเรียนรู้ที่เป็นจริงและสมบูรณ์จะต้องเกิดจากการสอนให้ครบทั้งสามทฤษฎีหรือสนองจุดหมายทั้งสามด้านของบลูม เนื้อหาสาระจะเป็นตัวบอกว่าจะต้องเน้นการเรียนรู้ด้านใดเป็นหลักและการเรียนรู้ส่วนใหญ่จะต้องมุ่งทั้งสามด้าน เพียงแต่ว่าด้านใดเป็นตัวหลักและด้านใดเป็นเสริม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น